จากกรณีที่เพจเฟซบุ๊ก Drama-addict ได้ออกมาโพสต์เตือนหลังมีชายรายหนึ่งได้ออกมาโพสต์ขอความช่วยเหลือในกลุ่ม “งูไทย…อะไรก็ได้ all about Thailand snakes” เนื่องจากถูกงูกฉก โดยระบุว่า “งูอะไรครับ โดนฉกที่เถียงนา อ.เมือง จ.มุกดาหาร 30 นาทีก่อน คลื่นไส้อาเจียน 1 ครั้ง ปวดแผลเล็กน้อย”
ทางเพจเฟซบุ๊ก Drama-addict ระบุว่า น่าจะงูทับสมิงคลา แต่ต้องแยกกับงูปล้องฉนวนด้วย ถ้าเป็น งูปล้องฉนวน จะไม่มีพิษ
งูทับสมิงคลา
งูปล้องฉนวน
ส่วน งูทับสมิงคลา เป็นงูที่พิษรุนแรงอันดับต้นๆ ของไทย พิษของงูทับสมิงคลาหลักๆ จะมีผลต่อะระบบประสาททำให้คนที่โดนกัด มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง หนังตาตก หายใจเองไม่ได้จนเสียชีวิต แบบคนที่โดนงูเห่ากัดปรกติมักเจอช่วงกลางคืน เป็นงูที่ กินกบ เขียด และงูด้วยกัน
ข้อความดังกล่าว ส่งผลให้เกิดการพูดถึงบนโลกโซเชียลมากมายถึงความแตกต่างของงูทั้ง 2 ชนิด วันนี้ทีมนิวมีเดีย พีพีทีวี ได้รวบรวมข้อมูลมาฝากกัน
“ทับสมิงคลา” งูพิษร้ายแรงอันดับๆ ของไทยคำพูดจาก สล็อตวอเลท
งูทับสมิงคลา เป็นงูที่มีลำตัวค่อนข้างกลม มีสันเล็กน้อยแต่ไม่ชัดเจนอย่างงูสามเหลี่ยม มีสีดำสลับขาวเป็นปล้องตลอดความยาวลำตัว ส่วนท้องมีสีขาว ส่วนบนของหัวมีสีดำปนเทา ส่วนหางเรียวยาวและปลายหางแหลม เป็นงูที่ว่องไวปราดเปรียวและพิษมีความรุนแรงกว่างูสามเหลี่ยม โดยพิษของงูทับสมิงคลาจะมีผลต่อระบบประสาท ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยเกิดหนังตาตก พูดไม่ชัด หายใจไม่สะดวก
งูชนิดนี้พบทั่วทุกภาคของประเทศ โดยพบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ซึ่งมักพบอาศัยตามดินที่ลุ่มชิ้นใกล้กับแหล่งน้ำ โดยมักออกหากินยามกลางคืน จับงูขนาดเล็ก จิ้งเหลน กบ และเขียดเป็นอาหาร
“ปล้องฉนวน” งูไร้พิษแฝดทับสมิงคลา
งูปล้องฉนวน เป็นงูลำตัวเรียวยาว มีแถบสีขาวสลับดำ หรือสีดำอมๆ เทา พอโตขึ้นจะจางลงเริ่มจากส่วนหางขึ้นมา กลุ่มงูปล้องฉนวนเกล็ดมีลักษณะเท่าๆกัน ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มงูทับสมิงคลาหรืองูสามเหลี่ยมที่มีพิษอันตรายลักษณะ ที่จะมีเกล็ดกลางสันหลังเป็นเกล็ดขนาดใหญ่ลักษณะเป็นรูปหกเหลี่ยม
อย่างไรก็ตามงูปล้องฉนวน เป็นงูที่ไม่มีพิษ ไม่มีอันตราย กินสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก เช่น เขียด กิ่งก่า จิ้งเหลนเท่านั้น
หลักในการจำแนกงูทับสมิงคลา-ปล้องฉนวน
สำหรับหลักในการจำแนกความแตกต่างที่แม่นยำมากที่สุด นายนิรุทธ์ ชมงาม หรือ ประธานกลุ่มอสรพิษวิทยา (นิค อสรพิษวิทยา) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านงู และเจ้าของเพจ Nick Wildlife ให้สัมภาษณ์ว่า ในการจำแนกงูทั้ง 2 ชนิดนี้ จะใช้เกล็ดกลางหลังเป็นหลัก กลุ่มงูปล้องฉนวนเกล็ดจะมีลักษณะเท่าๆ กัน ส่วน กลุ่มงูสามเหลี่ยม งูทับสมิงคลา เกล็ดกลางหลังจะเป็นเกล็ดขนาดใหญ่รูปหกเหลี่ยม
รู้จักงูพิษในประเทศไทย
งูพิษที่พบในประเทศไทยมีอยู่ด้วยกัน 4 กลุ่ม คือ
- Elapidaeงูในกลุ่มนี้จะมีเขี้ยวพิษอยู่ที่กรามบนด้านหน้า เวลากัดผู้ป่วยมักจะไม่เห็นรอยเขี้ยว เนื่องจากเขี้ยวสั้นและเคลื่อนไหวไม่ได้ ได้แก่ งูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม งูทับสมิงคลา งูพริก และงูปล้องหวาย อาการสำคัญของผู้ป่วยที่ได้รับพิษคือ อาการทางระบบประสาท พิษของงูเห่ายังทำให้เกิดบวมตรงตำแหน่งที่ถูกกัด ซึ่งเป็นฤทธิ์ cytotoxicity ส่วนพิษของงูสามเหลี่ยมและงูทับสมิงคลาจะไม่มีฤทธิ์ cytotoxicity เลย ดังนั้นจะไม่พบการบวมตรงตำแหน่งที่ถูกกัดจากงูทั้งสองชนิดนี้
- Viperidae (Vipers)งูในกลุ่มนี้จะมีเขี้ยวพิษอยู่กรามบนด้านหน้า เวลากัดผู้ป่วยมักจะเห็นรอยเขี้ยวเนื่องจากเขี้ยวยาวเคลื่อนไหวและเก็บงอพับได้ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อยๆ คือ
- 1.) Cratalinaeงูในกลุ่มแยกย่อยนี้จะมีรูอยู่ระหว่างจมูกกับตา ซึ่งเป็นอวัยวะที่รับรู้ความร้อน (thermosensitive organ) ทำให้งูรู้ว่ามีสัตว์เลือดอุ่น เช่น หนูอยู่ตำแหน่งไหน มีประโยชน์ในการจับเหยื่อ งูในกลุ่มนี้ได้แก่ งูเขียวหางไหม้ งูกะปะ ซึ่งมีพิษทำลายผนังด้านในของหลอดเลือดฝอย ทำให้เลือดออกตามที่ต่างๆ ของร่างกาย นอกจากนี้ยังมีพิษทาง cytotoxicity ด้วย ทำให้แผลที่ถูกกัดบวมและเน่าได้
- 2.) Viperinaeงูในกลุ่มแยกย่อยนี้ จะไม่มีรูอยู่ระหว่างจมูกกับตา ได้แก่ งูแมวเซา ซึ่งมีพิษทำให้เลือดออกตามที่ต่าง ๆ และมีพิษต่อไตทั้งทางตรง และทางอ้อม นอกจากนี้ยังมีพิศยังทำลายเนื้อเยื่อ และมีพิษทาง cytotoxicity ทำให้แผลที่ถูกกัดบวม
- Hydrophiidaeงูในกลุ่มนี้มีเขี้ยวพิษอยู่ที่กรามบนด้านหน้า เวลากัด ผู้ป่วยมักไม่เห็นรอยเขี้ยว เนื่องจากเขี้ยวสั้นและเคลื่อนไหวไม่ได้ ได้แก่ งูทะเล เช่น งูชายธง งูคออ่อน งูสมิงทะเล งูกะรัง และงูแสมรัง เป็นต้น ลักษณะพิเศษของงูทะเล คือ จะมีหัวเล็ก ลำตัวยาว ลายที่ลำตัวเป็นปล้องๆ สีขาวหรือเหลือง สลับกับสีเทาหรือดำ หางแบนกว้างคล้ายพายมีประโยชน์สำหรับว่ายน้ำ พิษงูทะเลสามารถทำลายกล้ามเนื้อ และยังมีพิษทำลายประสาทด้วย
- Colubridaeงูในกลุ่มนี้มีเขี้ยวพิษอยู่ที่กรามบนอยู่ด้านในสุด เขี้ยวพิษของงูกลุ่มนี้สั้นและอยู่ด้านในทำให้กัดคนลำบาก จึงไม่ค่อยพบว่างูชนิดนี้ทำอันตรายต่อมนุษย์มากนัก บางคนคิดว่าเป็นงูไม่มีพิษ แต่ความเป็นจริงแล้วงูในตระกูลนี้บางตัวมีพิษและมีรายงานคนเสียชีวิตจากงูชนิดนี้กัดแล้ว โดยมากจะเป็นนักเลี้ยงงู ซึ่งคิดว่าเป็นงูไม่มีพิษ โดยที่พบในประเทศไทยคือ งูลายสาบคอแดง ลักษณะคล้ายงูเขียวแต่หางไม่มีสีน้ำตาล แต่มีสีแดงที่คอ พิษงูในกลุ่มนี้จะทำให้เลือดออกตามที่ต่างๆ ของร่างกาย
การป้องกันงูฉก
- ถ้าพบงูในระยะห่าง อย่าเข้าใกล้ เพราะงูจะไม่ทำร้ายมนุษย์เช่นกัน
- ถ้าพบงูในระยะใกล้ ให้อยู่นิ่งๆ รองูเลื้อยหนีไป เพราะงูส่วนใหญ่สายตาไม่ดี มักจะฉกสิ่งที่เคลื่อนไหว เพื่อป้องกันตัวเองจากศัตรู
- ถ้างูไม่ยอมเลื้อยหนี ให้ก้าวถอยอย่างช้าๆ จนพ้นระยะห่าง 2 เมตร ซึ่งเป็นระยะพ้นจากการฉกกัดของงู
- หากมีความจำเป็นต้องเดินเข้าไปในพื้นที่ที่มีงู ให้สวมรองเท้าบูตยาวเพื่อป้องกันงูกัด และใช้ไม้ยาวๆ เคาะไปตามพื้นหรือพื้นที่ด้านหน้าเพื่อเตือนให้งูหนีไปก่อน หรือตรวจดูว่ามีงูอยู่หรือไม่
- ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางในเวลากลางคืน หากจำเป็นควรพกไฟฉายหรือวัตถุที่ให้แสงสว่างส่องนำทาง
- ตรวจเช็กบริเวณที่นอนและกองผ้าต่างๆ ก่อนทุกครั้ง เพราะงูมักจะมาหาที่อบอุ่นเพื่อหลบซ่อนตัวอยู่ตามกองผ้า ที่นอน หมอน และมุ้ง
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกฉก
- ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำเกลือทันที
- ใช้ผ้าพันแผล โดยเริ่มพันจากรอยแผลถูกกัดแล้วพันต่อไปจนถึงข้อต่อหรือสูงเหนือบาดแผลให้มากที่สุด
- หาไม้กระดานหรือวัสดุที่มีความแข็งแรงมาดาม แล้วพันด้วยผ้าพันแผลทับอีกครั้ง เพื่อให้อวัยวะส่วนที่ถูกกัดเคลื่อนไหวน้อยที่สุด
- นำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุดโดยเร็ว เพื่อรับการรักษาด้วยเซรุ่มแก้พิษงู
สิ่งที่ไม่ควรทำเมื่อถูกฉก
- ไม่จำเป็นต้องฆ่างูให้ตาย เพื่อเอามาโรงพยาบาล ให้ถ่ายภาพมาก็เพียงพอแล้ว เสร็จแล้วให้รีบมาโรงพยาบาลทันที
- ไม่ควรใช้ไฟจี้ หรือเอามีดกรีดบาดแผล เพราะจะทำให้แพทย์วินิจฉัยผิดพลาด
- ไม่ควรใช้การขันชะเนาะ เพราะจะทำให้อวัยวะขาดเลือด
- ไม่ควรใช้ปากดูดแผล
- ไม่ควรให้ผู้ป่วยดื่มสุรา
- ไม่ควรใช้ยากระตุ้นหัวใจ มอร์ฟัน ยาระเหย หรือยาแก้แพ้ต่างๆ เพราะจะทำให้สับสนถึงอาการของพิษงูทางระบบประสาท (หากปวดมาก ให้ใช้ยาพาราเซตามอลได้)
ทั้งนี้ ถ้าถูกงูฉกไม่ว่าจะชนิดไหนก็ตาม ควรรีบพบแพทย์ โดยให้ถ่ายภาพมา ไม่จำเป็นว่าจะต้องจับงูหรือฆ่างูมาให้ได้ เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาให้เร็วที่สุด จะช่วยลดความเสี่ยงเจ็บป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิต
ขอบคุณข้อมูลจาก : สภากาชาดไทย, โรงพยาบาลรามาธิบดี และ เฟซบุ๊กงูพิษชิดใกล้ Thailand Snakes : Close Encounters
ภาพจาก : Thai National Parks